หน้าแรก ข้อมูลเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของอินเดีย
การดำเนินธุรกิจในอินเดีย
อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดของโลก โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหลายปี ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคสินค้าและการบริการภายในประเทศของอินเดีย ด้วยจำนวนประชากรในประเทศจำนวนกว่า 1.3 พันล้านคน นอกจากจะเป็นแหล่งตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อันดับที่ 2  ของโลก  (รองจากจีน) โดยเป็นตลาดผู้บริโภคคนชั้นกลางที่สามารถจับจ่ายใช้สอยจากรายได้สุทธิส่วนบุคคล (Disposable Personal Income) อยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 350 ล้านคน ซึ่งมีกำลังซื้อและเป็นตลาดที่มีศักยภาพของผู้ผลิตและการค้าปลีก อินเดียยังเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์ โดยมีค่าเฉลี่ยอายุประชากรต่ำที่สุดของโลกอยู่ที่ 24 ปี และมีโครงสร้างประชากรที่มีอายุระหว่าง 20 – 49 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน/เป็นกำลังสำคัญสำหรับการใช้แรงงาน นอกจากนี้ อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีโอกาสด้านการค้าและการลงทุนสูงมาก รวมทั้งมีอุตสาหกกรมการผลิตที่หลากหลาย

การดำเนินธุรกิจในอินเดียจะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวหากสามารถสรรหาคู่ธุรกิจ ในอินเดียได้อย่างถูกต้องในระยะแรก โดยคู่ธุรกิจที่ถูกต้องสามารถให้ความรู้และคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจในอินเดียได้อย่างเหมาะสมในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
  1. ตลาดของอินเดียมีความหลากหลายและมีความซับซ้อน
    อินเดียมีตลาดที่มีความหลากหลายเมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของรัฐต่างๆ ในอินเดียทั้ง 29 รัฐและ 7 ดินแดนสหภาพ รวมทั้งความหลากหลายทางด้านภาษาที่มีมากถึง 380 ภาษา และความหลากหลายในเรื่องอาหาร ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมทางธุรกิจ (local business customs)  ดังนั้น คู่ธุรกิจที่ดีจะมีบทบาทที่สำคัญในการสรรหาตลาดที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์กับธุรกิจแต่ละประเภทและนโยบายการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
  2. ราคาในทางการตลาด (Pricing) เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
    อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อพิจารณาจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP) รองจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งนี้ PPP ต่อหัวประชากรยังคงต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก ดังนั้น คู่ธุรกิจที่ดีจะมีบทบาทที่สำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนธุรกิจ (Cost Structure) เพื่อช่วยในเรื่องการวางแผนในการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจการค้าขาย และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
  3. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจในอินเดียมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง
    การสรรหาคู่ธุรกิจในอินเดียได้อย่างถูกต้องนอกจากจะช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น แยังจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎมายของอินเดีย โดยคู่ธุรกิจที่ดีจะช่วยคาดการณ์และแก้ไขปัญหาอุปสรรคและความท้ายทายในการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อจัดตั้งธุรกิจที่ต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของอินเดียที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้สนใจที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในอินเดียจำเป็นที่จัดต้องสรรหาคู่ธุรกิจในอินเดีย ที่ถูกต้องสำหรับแต่ละประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางการเงินและการธนาคาร ธุรกิจการส่งออก หรือธุรกิจการตลาด การลงทุนทางด้านเวลาและความพยายามในการสรรหาหาคู่ธุรกิจที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญในการช่วยให้การดำเนินธุรในอินเดียประสบความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างแน่แท้


ปัจจุบันธุรกิจไทยรายสำคัญที่เข้าไปลงทุน/ดำเนินธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ในอินเดียแล้ว ได้แก่
  1. สาขาอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดัชมิลล์ จำากัด
  2. สาขาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซริกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด (เครือซีเมนต์ไทย)
  3. สาขาอุตสาหกรรมเบา ได้แก่ บริษัท แพรนดา จำกัด (มหาชน) (อัญมณีและเครื่องประดับ), บริษัท ร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน) (เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน), บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) (เมลามีน) และบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด (รถจักรยาน)
  4. สาขาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักร ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี  จำกัด, บริษัท ยูเรก้า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซัมมิท โอโต้ชีท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)


โอกาสการขยายธุรกิจของไทยไปอินเดีย
โอกาสการขยายธุรกิจของไทยไปในอินเดียมีอยู่สูง โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจก่อสร้าง บริการระบบสาธารณูปโภค บริการโรงแรมและสปา เทคโนโลยีการผลิตอาหารแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เพื่อรองรับนโยบาย Make in India และ Smart Cities เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และให้อินเดียกลายเป็นฐานการผลิตหลักของโลก โดยอินเดียตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยมีโอกาสเข้ามาลงทุนในสาขาบริการด้านการท่องเที่ยวและการสาธารณสุข เนื่องจากประเทศอินเดียยังขาดความเชี่ยวชาญในด้านการบริการทั้งสองด้าน ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นักธุรกิจไทยยังมีโอกาสเข้ามาลงทุน/ดำเนินธุรกิจในสาขาธเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ซึ่งเป็นสาขาที่ปัจจุบันเติบโตในอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ 

 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
กรกฎาคม 2563