หน้าแรก ข้อมูลเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของอินเดีย
สภาพแวดล้อมด้านการลงทุน มาตรการและสิทธิประโยชน์
สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของอินเดีย
สภาพแวดล้อมการลงทุนของอินเดียได้พัฒนาดีขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่อินเดียเปิดเสรีเศรษฐกิจเมื่อปี 2534 อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลักในการผ่อนปรนกฏระเบียบด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) อินเดียมีการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศในเกือบทุกสาขาทางเศรษฐกิจมากขึ้น และมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของชาวต่างชาติ อาทิ (1) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าปี 2544 และการลดระดับอัตราภาษีนำเข้าให้ใกล้เคียงกับอัตราของกลุ่มอาเซียน และ (2) มาตรการให้สิ่งจูงใจด้านภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI Policy) อาทิ โครงการ Export Oriented Units โครงการ Special Economic Zone โครงการ Electronic Hardware Technology Park and Software Technology Park และโครงการ Industrial Parks สำหรับธุรกิจ Food Processing Units 

ปัจจุบันอินเดียได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) 100 ลำดับแรกของโลก รายงาน World Investment Report ปี 2557 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) ได้จัดลำดับอินเดียอยู่ลำดับ 4 ของประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุด

FDI ที่ไหลเข้าอินเดียในช่วงปี 2557 – 2558 อยู่ที่ 4.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และได้เพิ่มขึ้นเรื่อยมาที่ 5.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2558-2559 ที่ 60.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2560-2561 ที่ 6.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2561-2562 และสูงสุดที่ 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2561- 2562 ล่าสุดรายงาน World Investment Report ปี 2563 ของ UNCTAD ให้ข้อมูลว่า FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาคเอเชียใต้เมื่อปี 2562 เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 10 (5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) โดยการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอินเดียเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอัตราการเติบโตดังกล่าว เหตุผลหลักของการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอินเดียเนื่องจากอินเดียผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนในด้านการค้าปลีก การประกัน และกระบวนการผลิตถ่านหิน  ปลายน้ำในช่วงกลางปี 2562 โดยปี 2562 FDI ที่ไหลเข้าอินเดียเติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 20 (5.1 หมื่นล้านเหรียฐสหรัฐ) การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) และภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ

การลงทุนในสาขา ICT ของอินเดียได้พัฒนาจากจุดเริ่มตนของการลงทุนของบริษัทต่างชาติในสาขาการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดียสู่การเติบโตของธุรกิจของบริษัทท้องถิ่นของอินเดียที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ในอินเดียในปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจ E-Commerce อาทิ ธุรกิจของบริษัท Amazon Filpkart และ Zomato ซึ่งได้จุดประกายให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในสาขาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดกิจกรรมการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions : M & A) ในโครงการขนาดยักษ์หลายโครงการในอินเดีย อาทิ การลงทุนในบริษัทอินเทอร์เน็ต ในอินเดียซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการร่วมลงทุน (venture capital investments) ในบริษัทอินเทอร์เน็ตของอินเดียที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท One97, Grofers, BrainBees และ MakeMyTrip และการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Essar Steel (อินเดีย) โดยบริษัทร่วมทุนอินเดีย-ญี่ปุ่น


การลงทุนในประเทศอินเดีย
  1. หน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลงทุนของอินเดีย ได้แก่ ธนาคารกลางอินเดีย กรมการค้าและภาษี รัฐบาล NCT ของนิวเดลี กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย และสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย 
  2. กฎหมายหลักในการลงทุน การลงทุนต่างชาติในอินเดียต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติของรัฐบาล อินเดียด้วยการจัดการเงินตราระหว่างประเทศ ค.ศ. 1999 (Foreign Exchange Management Act 1999) หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติของธนาคารกลางอินเดียกำหนดไว้ใน Notification No. FEMA 20/2000-RB ของฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2000
  3. ประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการที่รัฐบาลอินเดียส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ การก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การลงทุนที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้จากการส่งออก การลงทุนที่มีการจ้างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในเขตชนบท การลงทุนที่มีความเชื่อมโยงกับการเพาะปลูกและธุรกิจการเกษตร การลงทุนในธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การลงทุนที่ส่งเสริมให้มีการนำเข้าเทคโนโลยี                     
  4. กิจการที่ไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน เช่น พลังงานปรมาณู สลากกินแบ่ง และการพนัน เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่ไม่อนุญาตประเภทอื่น ๆ สามารถสามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ Invest India ของ National Investment Promotion & Facilitation Agency ที่ https://www.investindia.gov.in/foreign-direct-investment
  5. ช่องทางการลงทุนในประเทศอินเดียแบ่งเป็น 2 ช่องทาง ดังนี้
    • ช่องทางที่ 1 การลงทุนในช่องทางแบบอัตโนมัติ (Automatic Route) โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อหุ้นจากบริษัทอินเดียเข้ามาลงทุนโดยตรงได้ แต่ต้องมีการแจ้งข้อมูลให้กับธนาคารกลางของอินเดียภายใน 30 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการที่ต้องการลงทุน
    • ช่องทางที่ 2 การลงทุนในช่องทางที่ต้องขออนุญาต (Government Route) โดยนักลงทุนต่างชาติจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลอินเดีย ที่หน่วยงานพิจารณาคือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สังกัดกระทรวงการคลังอินเดีย ก่อนเข้าไปทำการลงทุนและจึงเริ่มดำเนินการได้

      แต่ละช่องทางมีสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยจำแนกเป็นแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนของแต่ละอุตสาหกรรมอินเดียสามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ Invest India ของ National Investment Promotion & Facilitation Agency ที่ https://www.investindia.gov.in/foreign-direct-investment
  6. การขออนุญาตในการจัดตั้งสำนักงานในอินเดีย นักลงทุนสามารถจัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางของอินเดีย ประเภทของการจัดตั้งสำนักงาน มีดังนี้
    • ประเภทที่ 1 สำนักงานสาขา เป็นพื้นที่สำหรับการนำเข้าสินค้าและส่งออกสินค้าโดยตรง เป็นตัวแทนบริษัทในการซื้อขาย หรือการให้บริการต่าง ๆ โดยต้องยื่นเอกสารตามที่ธนาคารกลางของอินเดียกำหนด
    • ประเภทที่ 2 สำนักงานโครงการ เป็นพื้นที่สำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในบางโครงการสามารถเข้าไปจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในอินเดียได้ และต้องทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการเท่านั้น
    • ประเภทที่ 3 สำนักงานตัวแทน เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล ศึกษาแนวทางการดำเนินการธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการค้ากับอินเดีย เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทแม่กับสาขาที่อยู่ในเครือในอินเดีย


มาตรการและสิทธิประโยชน์
อินเดียได้ปรับลดกฎและเพิ่มนโยบายเพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการลงทุนในอินเดียมากขึ้น ดังนี้
  • สนับสนุนการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติผ่านช่องทางอัตโนมัติมากขึ้น และนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ทั้งหมดในธุรกิจเกือบทุกประเภท
  • เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามเมืองสำคัญ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ และอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ การยกเว้นภาษีรายได้ในช่วง 5-10 ปีแรก การยกเว้นภาษีสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สินค้าที่ได้รับการส่งเสริมการนำเข้าจากต่างประเทศ จะได้รับส่วนลดภาษีศุลกากร สินค้าที่สำคัญที่ได้รับส่วนลด ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับระบบชลประทาน อุปกรณ์การแพทย์ น้ำมันพืช อาหารสัตว์ เภสัชกรรม และไบโอเคมี
    

อนุสัญญาภาษีซ้อน
อินเดียมีความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่มีผลใช้บังคับกับ 85 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยสำหรับบุคคลสัญชาติที่มีความตกลงนี้กับอินเดีย อัตราภาษีต่าง ๆ จะเป็นไปตามที่ความตกลงนี้กำหนด โดยบริษัทอินเดียจะได้รับเงินภาษีที่จ่ายในประเทศนั้น ๆ คืน เมื่อทำการยื่นเสียภาษีในแต่ละปี

อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ไทยและอินเดียมีความตกลงดังกล่าวลงนามตั้งแต่ปี 2528 


ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกัยอินเดีย
ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ลงนามปี 2543 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่การลงทุนของผู้ลงทุนของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายในประเทศของตน โดยจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลาสิบปี หลังจากนั้นจะมีผลใช้บังคับต่อไปอีกโดยอัตโนมัติเว้นแต่มีการบอกเลิกโดยภาคีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระหว่างกัน โดยจะช่วยสร้างความมั่นใจและเป็นหลักประกันในด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งสองประเทศ อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย


ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 
  1. FTA ไทย – อินเดีย ไทยและอินเดียจัดทำ FTA เมื่อปี 2547 ปัจจุบันมีรายการสินค้าเร่งลดภาษีภายใต้ FTA ไทย-อินเดียจำนวน 83 รายการ (ได้แก่ ผลไม้ ข้าวสาลีอาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก TV สี เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ลดภาษีเป็น 0 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549
  2. FTA อาเซียน – อินเดีย อาเซียนและอินเดียจัดทำ FTA เมื่อปี 2553 ภายใต้ FTA ดังกล่าว ประเทศสมาชิกในอาเซียนจะยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ 80  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 อินเดียลดภาษีรายการสินค้ากว่าร้อยละ 79 ของสินค้าทั้งหมดเป็น 0 แล้วให้แก่ประเทศอาเซียน 


กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียกับประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อินเดียได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี BIMSTEC (Framework Agreement on the BIMSTEC Free Trade Area) ร่วมกับประเทศสมาชิก BIMSTEC (ยกเว้นบังกลาเทศ) และต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 อินเดียลงนามพิธีสารการเป็นภาคีความตกลงของบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศสมาชิก BIMSTEC 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย สหภาพพม่า เนปาล และภูฏาน

แหล่งข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, และ World Investment Report ปี 2557 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา


ข้อมูลเพิ่มเติม
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในอินเดียสามารถเรียกรู้ได้จากเว็บไซต์ Invest India ของ National Investment Promotion & Facilitation Agency ที่ https://www.investindia.gov.in/foreign-direct-investment
  • ข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินเดียสามารถเรียกดูได้จากเว็บไซต์ Special Economic Zones in India, Ministry of Commerce & Industry, Department of Commerce ที่ http://www.sezindia.nic.in/
 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
กรกฎาคม 2563